วันพุธที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ME


 





ผมชื่อศักดิ์ศิริ วนิชานนท์ ผมเป็นคนกรุงเทพฯตั้งแต่กำเนิดครอบครัวผมอยู่ในฐานะที่ร่ำรวย(ในตอนนั้น) ผมเป็น พี่ชายคนโตมีน้องสาว 1 คน บิดาทำงานบริษัท มารดาเป็นแม่บ้านผมจบมัธยมศึกษาตอนต้นที่ โรงเรียนปานะพันธ์ในพระบรมราชูปถัมธ์ แล้วจึงเข้าศึกษาต่อระดับ ปวช. ที่โรงเรียนเซนจอร์นโปลีเทคนิคสาขาวิชาช่างไฟฟ้ากำลัง แต่ด้วยความเกเรจึงถูก RETIRE ออกแล้วจึงได้ย้ายไปศึกษาต่อที่โรงเรียนทคโนโลยีบางกะปิแต่ก็เรียนไดพียง ครึ่งเทอมก็ถูกไล่ออกเพราะทางโรงเรียนเข้าใจว่าผมค้ายา ผมจึงย้ายไปศึกษาต่อที่โรงเรียนเทคโนโลยีดุสิตผมเรียนได้ที่นี่ เพราะที่นี่เค้าไม่สนใจความเป็นมาใดๆทั้งสิ้นของผม แต่ผมก็เรียนได้แค่เพียง 1 ปีกว่า ๆ ก็เลิกเรียนผมเริ่มใช้ยาเสพติดครั้งแรกตอนเรียนเซนจอร์น ยาเสพติดชนิดแรกที่ผมใช้คือ เฮโรอีน ผมใช้ครั้งแรกโดยให้เพื่อนฉีดให้ในตอนนั้นผมเข้าใจว่าคนที่ใช้เฮโรอีนจะต้อง ใช้วิธีฉีดข้าเส้นเพียงอย่างเดียว อาจจะเป็นเพราะผมโง่เรื่องนี้ในตอนนั้นกว่าจะรู้ว่ามันเอามาสูบก็ได้ก็ฉีดไป 3-4 เข็มแล้ว หรืออาจจะเป็นเพราะสื่อโฆษณาในยุคนั้นที่พยาามบอกว่าผู้ติดเฮโรอีนจะต้องมี รอยฉีดที่แขน ผมเริ่มใช้ยาตอนปี 2535 ปัจจุบันผมอายุ 30 ปี ผมเลิกยามา 9 ปี แต่กว่าจะเลิกได้ชีวิตผมก็ผ่านอะไรต่อมิอะไรมาเยอะแยะไปหมด แต่ในตอนที่ผมเริ่มใช้ยาเสพติดใหม่ ๆ ผมรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่เท่ห์ ที่เราเมาแล้วเพื่อนเราเห็น บ้านผมไม่มีปัญหาใด ๆ ครอบครัวผมอบอุ่น แต่มันก็เป็นเพียงแค่ความทรงจำแย่ ๆ ของผมกับอดีตที่ผ่านมา
ผมใช้ยาเสพติดมาประมาณ 6 ปี แบ่งเป็น เฮโรอีน 5 ปี 10 เดือน ยาบ้าประมาณ 2 เดือน ผมเคยขายรถ ขายบ้าน เพื่อเอาเงินซื้อผง กว่าจะรู้ว่าตัวเองโง่และเสียเวลากับเรื่องหายนะพวกนี้มานานผมถูกตำรวจจับมา ไม่ ต่ำกว่า 30 ครั้ง โดยประมาณ ผมเข้าห้องขังสถานีตำรวจไม่ต่ำกว่า 10 สน.แต่ผมโชคดีที่ไม่เข้าเรือนจำ เต็มที่ก็แค่ห้องขังบนโรงพัก ผมเข้ารับการรักษาครั้งแรกโดยทางบ้านขอร้องให้ไปเลิกถ้ำกระบอกที่นี่เป็นสาน ที่เลิกยาที่แรกที่ผมเข้ารับการรักษา ต่อมาก็เป็น ร.พ. ธัญญารักษ์(ทั้ง 2 ที่เหมือนเป็นสถานที่กักกันขี้ยาสำหรับผมมากกว่า)ต่อมาจึงได้รู้จักกับสถาน พยาบาลวังทองหลาง ที่นี่ผมเป็นแฟนพันธ์แท้เพราะที่นี่เป็นสานที่เดียวที่ผมรู้สึกว่าเขา ปฏิบัติกับขี้ยาอย่างเราเหมือนเป็นคนป่วยจริง ๆ ผมไปที่สถานพยาบาลวังทองหลางทั้งหมด 14 ครั้ง และยังมีศูนย์บริการสาธารณะสุข แต่ที่นี่เป็นเหมือนสถานที่ที่เราข้าไปกินยาเมธาโดนเพื่อเพิ่มความเมาสำหรับ ผมมากกว่าเพราะทุกวันผมจะไปกินยาก่อนที่จะไปซื้อผงฉีด การกินยาแก้วแรก ๆ กินไปฉีดต่อไม่ไหวแต่แก้วหลัง ๆ กินไปฉีดไป ต่อมาทางบ้านผมจึงนำผมมารับการรักษาในรูปแบบชุมชนบำบัด (T.C.) ที่ศูนย์เกิดใหม่ ที่ศูนย์เกิดใหม่ผมอยู่นาน เข้าออกประมาณ 3 รอบ รอบละปีกว่า ๆ และเป็นเจ้าหน้าที่ (Staff) ทุกรอบและที่นี่คือจุดสิ้นสุดของชีวิตผมและเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานด้าน ยาเสพติด ผมเริ่มต้นทำงานเป็นอาชีพตั้งแต่ ปี 2540 จนถึงปัจจุบัน
ผมเคยได้ทุน ป.ป.ส. ให้ไปอบรมที่ Day Top Floundation แต่ก็สละสิทธิ์ ต่อมา ปี 2541 ผมถูกไล่ออกจากศูนย์เกิดใหม่ โดยที่ผมไม่มีความผิดใด ๆ ผมจึงย้ายมาทำงานกบสานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด บ้านภมรบุตร จนกระทั่ง ปี 2547 ได้มีโอกาสร่วมงานกับ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในฐานะผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับยาเสพติด แล้วจึงย้ายมาทำงานกับ สำนักงานประสานความร่วมมือระหว่างประเทศไทย – สหรัฐอเมริกา เพื่อการวิจัยเกี่ยวกับ สารแอมเฟตามีน ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัลยาสิริวัฒนาพรรณวดี ในตำแหน่งกรรมการ และต่อมาจึงได้มีโอกาสทำงานในโครงการ To Be Number 1 Home ที่บ้านไทรน้อย จ.นนทบุรี ซึ่งเป็นโครงการ Half Way House ที่นี่ผมเป็นรองผู้อำนวยการ แต่เนื่องจากจำนวนผู้เข้ารับการบำบัดมีน้อยจึงปิดโครงการลง หลังจากนั้น ผมจึงผันตัวเองมาเป็นวิทยากรภายใต้โครงการของ Halm Reductionโดยให้ความรู้เรื่อง การลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำบำบัดพิเศษกลางคลอง เปรมและบ้านเมตตาจนปัจจุบัน
ความคิดเห็นและทัศนคติที่มีต่อยาเสพติดในปัจจุบัน

ยาเสพติดมหันตภัยที่บ่อนทำลายคนในชาติ ถ้าคุณติดมันคุณจะรู้ว่ามันเป็นอย่างไร สำหรับผมแล้วยา คือ เพื่อน เพราะเมื่อเราใช้ยาเราจะมีโลกแห่งความสุข เหมือนมีเกาะที่ล้อมรอบตัวของเราเองอย่างน้อยก็ในรัศมี 1เมตรรอบตัว ความจริงแล้ว “ ความจริงแล้วยาไม่ได้เปลี่ยนอะไรแต่ทัศนคติของเราต่างหากที่เปลี่ยน ” เราใช้ยา เพื่อหาทางลัดสู่อะไรสักอย่างที่เราต้องการ สำหรับผมแล้วมีเพียงแค่ 3 เหตุผล

1. รักษาอาการปวดทางด้านจิตใจ
2. สร้างจินตนาการทางด้านอนาคต
3. เพื่อกล่อมหรือกระตุ้นประสาทการรับรู้
โดยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมดแล้ว ผมว่ามันเป็นเหตุผลและข้อดีของการติดยาของมนุษย์บนโลก แต่เรา
ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่ามันก็มีข้อเสียที่มากกว่าข้อดี แต่โดยความเชื่อส่วนตัวของผมแล้ว มนุษย์ทุกคน บนโลก ใบนี้ ล้วนแล้วแต่เสพติด บ้างก็ติดการทำงาน ติดการอยู่กับครอบครัว ติดการช๊อปปิ้ง ติดการชมภาพยนต์ ทุกการ เสพติดทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นการสร้างความสุขทางใจให้กับมนุษย์ และการติดยามันต่างกันตรงไหน แน่นอนการติดยาก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรม นั่นเป็นเพราะสังคมไทยไม่ให้การยอมรับกับผู้ใช้ยามากกว่า ถ้าคุณเคย ติดยา หรือติดคุก หรือเคยมีประวัติจะมีที่ไหนบ้างที่จะยอมรับคุณเข้าทำงาน ถ้าคุณติดยาแต่คุณทำงานได้ผู้ติดยาคงไม่กลายเป็นภาระของสังคม แต่จะมีสถานประกอบการใดบ้างล่ะที่รู้ว่าคนติดยาแล้วยังคงยอมรับคุณเข้าทำงาน อีกทั้ง ๆที่เราทุกคนล้วนแล้วแต่เสพติดสารอดีนารีน และ สารเอนโดรฟีน แต่โดยวิธีการของคนย่อมมีวิธีการสร้างสรรค์ให้สมองของเราหลั่งสารเหล่านี้ ขึ้นมา แต่ยาเสพติดมันก็เป็นแค่เพียงทางลัดเป็นเหมือนทางด่วนที่ทำให้ผู้ใช้ยาไปถึง ความสุขได้โดยที่ไม่ต้องเล่นกีฬา ไม่ต้องเสียเวลากับการชมภาพยนตร์หรืออะไรก็ตามที่มนุษย์เราทำแล้วมีความสุข แต่การใช้ยาเสพติดมันต่างกับการเสพติดอื่น ๆ ก็ตรงที่ เมื่อเราใช้มันไปเรื่อย ๆ เราก็จะยิ่งห่างไกลจากผู้คน ความเป็นจริง และในที่สุดเราก็จะอยู่กับจินตนาการของตัวเองจมอยู่กับความเพ้อฝันและในที่ สุดเพื่อนคนเดียวที่เราเหลืออยู่ ก็คือ “ ยาเสพติด ”
มนุษย์เราติดยากล่อมประสาทมาก่อนที่จะมี เฮโรอีน ,ยาบ้า ,กัญชา ฯ เสียอีก ยาเสพติดมันคือยาเสพติดจริงหรอ ถ้าเราวัดจากพฤติกรรมหลังการเสพมันจะมีผลข้างเคียงจาก ภาวะอารมณ์จิตใจ หรือการเสพติดขั้นรุนแรงงั้นผมมีข้อสงสัยอยู่ตรงที่ว่าแล้วมันต่างอะไรกับ พวกที่ติดสุรา นักวิชาการให้คำจำกัดความไว้ว่าสุราเป็น “ สิ่งเสพติด” มันมาใช่สารเสพติดทั้ง ๆ ที่ ผู้ที่มีอาการติดสุราเรื้อรัง อาการก็น่าที่จะหนักกว่าผู้ติดเฮโรอีนด้วยซ้ำไป เลิกก็ยากกว่า เพราะคุณสามารถหาซื้อมันได้ทั่วโลกและทั่วโลกก็พร้อมที่จะขายให้คุณ ถ้าคุณถูกจับในขณะที่เมาสุราไม่ว่าจะเป็นคดีอะไรก็ตามมันจะเป็นแค่เพียง “ ความคึกคะนอง ” แต่ถ้าคุณเสพยาบ้าแล้วคุณถูกจับนั่นคือปัญหาอาชญากรรม นี่คือเรื่องตลกในประเทศนี้

ข้อแตกต่างระหว่างสิ่งเสพติดกับสารเสพติด

- คนติดสุรา กับ คนติดเฮโรอีน
- คนติดบุหรี่ กับ คนติดกัญชา
- คนติดกาแฟ กับ คนติดยาบ้า
อะไรคือความแตกต่างนั้นหรือสำหรับผมแล้วมันก็แค่คำจำกัดความและระดับการยอม รับของคนในสังคมนั้น ๆ สำหรับผมแล้ว ยา คือเพื่อนเก่าที่แสนวิเศษและไม่สามารถลืมมันได้ กับความทุกข์อย่างสุดแสนลำเค็ญเมื่อเราขาดมัน ยาเสพติดก็เปรียบเสมือนดาบสองคม มันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่อะไรมันจะมากกว่ากันนั้นก็คงขึ้น อยู่กับวิธีการใช้ของแต่ละคน กับ ระดับการยอมรับของคนในสังคมนั้น ๆ

ประวัติส่วนตัว


ชื่อนายศักดิ์ศิริ วนิชานนท์ อายุ 29 ปี


ประวัติการศึกษา


จบมัธยมศึกษาตอนต้นที่ โรงเรียนปานะพันธ์ในพระบรมราชูปถัมภ์

ระดับ ปวช. ที่โรงเรียนเซนจอร์นโปลีเทคนิค , เทคโนโลยีบางกะปิ , เทคโนโลยีดุสิต (ไม่จบการศึกษา)
จบมัธยมศึกษาตอนปลายที่ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนอำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี
ระดับอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง , มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (ไม่จบการศึกษา)

ประวัติการใช้ยาเสพติด


ใช้ยาเสพติดมาเป็นระยะเวลา 6 ปี ชนิดของยาที่ใช้ เฮโรอีน , โดมิกุ้ม , ยาบ้า วิธีใช้ฉีดเข้าเส้น ปัจจุบันเลิกแล้ว

ประวัติการบำบัดรักษา
วัดถ้ำกระบอก
โรงพยาบาลธัญญารักษ์ ( 2 ครั้ง )
สถานพยาบาลวังทองหลาง ( 14 ครั้ง )
สถานฟื้นฟูสมรรถภาพ ฯ บ้านตะวันใหม่ ( 2 ครั้ง )
สถานฟื้นฟูสมรรถภาพฯ ศูนย์ลาดหลุมแก้ว
สถานฟื้นฟุสมรรถภาพ ฯ ศูนย์เกิดใหม่ ( 3 ครั้ง )

ประวัติการทำงานด้านการบำบัดรักษา


ปี 2539 – 2541 เจ้าหน้าที่ฝ่ายโปรแกรมศูนย์เกิดใหม่

ปี 2541 - 2545 เจ้าหน้าที่ฝ่ายติดตามผลบ้านภมรบุตร
ปี 2546 – 2548 รองผู้อำนวยการศูนย์บ้านไทรน้อย
- วิทยากรโครงการ To Be Number One Home
ปี 2549 เจ้าหน้าที่ฝ่ายติดตามผลบ้านเพียรพิทักษ์
ปัจจุบัน วิทยากรโครงการ Halm Reduction ในสังกัด Alden House

สาเหตุที่เลิกจากยาเสพติดได้


การเลิกจากยาเสพติดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งเสพนานเท่าไรก็ยิ่งเลิกยากเหมือนกับการที่เรากินอาหารทุกวัน ถ้าเมื่อไรเราหยุดกิน เลิกกิน เราก็หิวและท้ายที่สุดเราก็ตาย โดยขั้นตอนของการเลิกยานั้นมีอยู่มากมายหลายแบบทั่วโลก แต่วิธีการที่เป็นที่ยอมรับที่สุดก็ คือ “ ชุมชนบำบัด ” และตัวผมเองก็ผ่านขั้นตอนนี้มาเช่นกัน

ชุมชนบำบัด คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการเข้าใจตนเองให้มากที่สุดในชุมชนบำบัดเราสามรถ พัฒนาตัวเองได้ในขณะที่เราเลิกใช้ยาแล้ว ผมอยู่กับชุมชนบำบัดในฐานะผู้เข้ารับการบำบัดมานานหลายรอบ หลายปี และหลายสถานที่ ซึ่งทุกที่ก็มีข้อแตกต่างกัน แต่การที่คนเราจะเลิกยาเสพติดได้นั้นมิได้อยู่กับสถานที่บำบัดเพียงอย่าง เดียว ต้องขึ้นอยู่กับตนเองเป็นหลักสำคัญใหญ่ ๆ นอกนั้นแล้วก็จะเป็นเรื่องของแรงสนับสนุนของคนในครอบครัว
ผมไม่เคยคิดเลิกยาแต่สุดท้ายผมก็เลิกและเลิกได้จะมีผู้ใช้ยาสักกี่คนกันที่ กล้าพูดคำนี้ได้บ้างก็ใช้คำว่าหยุด บ้างก็พักเครื่อง แต่สำหรับผมแล้ว คือ การยุติ การเลิกเด็ดขาด เหตุผลที่เลิกส่วนหนึ่งคือเรื่องของการสูญเสียโอกาสต่าง ๆ รวมไปถึงทรัพย์สิน ผมเสียบ้าน เสียรถ เสียเงิน และที่สำคัญที่สุดผมสูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง การเลิกยาคือการนับหนึ่งผมเลิกมา 9 ปีผมเพิ่งจะนับไปถึงแค่ 3 เอง แต่ผมก็ไม่เคยยอมแพ้ทุกคนเมื่อติดยาไปแล้วผมเชื่อว่าก้นบึ้งในจิตใจของพวก เขาเหล่านั้นอยากเป็นคนดี อยากเลิก พยายามครั้งแล้วครั้งเล่าแต่ก็ไม่สำเร็จสุดท้ายก็ท้อและก็หาเหตุผลให้กับตัว เองต่าง ๆ นา ๆ บ้างก็ว่าลงทุนมาครึ่งชีวิตแล้วแต่นั้นมันก็แค่เหตุผลที่ทำให้ตนเองรู้สึกดี กับการใช้ยาของตนเองเท่านั้น
ทุกคนบนโลกล้วนแต่เสพติดและทุกวันนี้ผมก็เสพติดจินตนาการโดยที่ไม่ต้องใช้ยา ผมอยู่กับความเพ้อฝัน เพราะเมื่อไรที่ผมท้อแท้และคิดถึงเพื่อนเก่าที่แสนวิเศษอย่างยาเสพติดผมก็ แค่จินตนาการว่าผมกำลังใช้มันอย่างมีความสุข และพร้อมกับนึกถึงความทุกข์ ความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากยาเสพติด แค่เพียงเท่านั้นผมก็สามารถใช้ชีวิตได้ไม่ต่างจากคนทั่วไป
การหนีไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาของผู้ใช้ยา แต่การเผชิญหน้าต่างหากที่เราไม่เคยทำ ผมบอกกับเพื่อนที่ยังคง ใช้ยาอยู่เสมอว่า ถ้าเราติดยาแล้วเราวิ่งหนีมันมันก็จะวิ่งตามเราไปทุกที่ ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนก็ตามแต่ถ้าเราหยุดตั้งหลักและเผชิญหน้ากับมันและ เลือกว่าจะเล่นหรือเลิกเมื่อตัดสินใจได้แล้วก็ลงมือทำ ถ้าเลือกที่จะเล่นก็ก็จงเสพมันอย่างมีความรับผิดชอบไม่ทำตัวเป็นภาระของ สังคม ถ้าเลือกที่จะเลิกก็เริ่มต้นทำถ้าวันนี้เป็นวันแรกที่จะเลิกก็ต้องมีวันต่อ ๆ ไป จาก 1 เป็น 2 จาก 2 มาเป็น 7 จาก 7 มาเป็นเดือนจากเดือนมาเป็น1 ปีเป็น 2 ปี สำหรับผมแล้วผมเลิกยาวันต่อวันปัจจุบันก็ 9 ปี แล้ว สิ่งที่ผมเสียไปผมไม่ปัญญาที่จะสร้างขึ้นมาใหม่แต่ผมจะไม่ยอมเสียสิ่งที่ผม เหลืออยู่อีกแน่และนี่ก็คงเป็นเหตุผลที่ผมเลิกจากยาเสพติด

ข้อเสียของขั้นตอนบำบัดในปัจจุบัน


ประเทศไทยเริ่มมีสถานบำบัดครั้งแรกเมื่อปี 2503 โดยโรงพยาบาลธัญญารักษ์ ต่อมาขั้นตอนการบำบัดรักษามีขั้นตอนของการฟื้นฟูจิตใจเกิดขึ้นโดยใช้วิธีการ ของชุมชนบำบัดโดยทดลองใช้ครั้งแรกที่ โรงพยาบาลศรีธัญญา โดยนายแพทย์ฝน แสงสิงห์แก้ว ซึ่งตอนนั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จนกระทั่งปี 2522 จึงได้มีสถานฟื้นฟูสมรรถภาพทางด้านจิตใจผู้เคยติดยาเสพติดเกิดขึ้น คือศูนย์เกิดใหม่ โดย ศูนย์เกิดใหม่เป็นชุมชนบำบัดที่แรกในประเทศไทย ต่อมาจึงมีหลายสถานที่เกิดขึ้นตามมา โดยมีรูปแบบการรักษาแตกต่างกันไป อย่างเช่น โปรแกรม Matrix , Fast Model , วิวัฒน์พลเมือง หรือ ศาสนาบำบัดโดยมี คริสต์ , มุสลิม , พุทธ ซึ่งแตกต่างกันออกไปแต่ละรูปแบบมักไม่ค่อยประสบความสำเร็จในการรักษามากนัก โดยวัดจากการกลับไปเสพซ้ำของผู้ป่วย วึ่งปัจจัยที่ทำให้ล้มเหลวคงต้องมาวิเคราะห์กันที่

1. ผู้ให้การรักษา
2. ผู้เข้ารับการรักษา
3. ชนิดของยา
4. ครอบครัว
5. สภาพแวดล้อม
6. วิธีการรักษา
ผู้ให้การรักษา ปัจจุบันมีสถานประกอบการที่เปิดขึ้นมาโดยใช้หลักการที่สร้างขึ้นมาเอง อย่างเช่น
วิวัฒน์พลเมือง การให้ทหารเป็นผู้บำบัดคือการมั่วอย่างน่าเกลียดการทำให้ดูดีแต่ไม่คำนึงถึง ผลเสียที่เกิดขึ้นของรัฐบาลไทย รวมไปถึงการแบ่งชนชั้นวรรณะของหมอกับขี้ยาอย่างเช่น ที่โรงพยาบลธัญญารักษ์ที่นั่นถ้าคุณติดยาแล้วคุณทำงานให้ในตำแหน่งเดียวกับ ผู้ช่วยพยาบาลสิ่งที่แตกต่างคือฐานเงินเดือนและยังมีผู้ให้การรักษาดื่ม เหล้าตอนเลิกงานแต่พอเช้าขึ้นมาก็มาสอนว่าเหล้าคือความสุขบนความเสี่ยงห้าม เราดื่มทั้งที่ตนเองยังเมาอยู่ทุกวัน หรือแม้แต่ศูนย์เกิดใหม่ที่ปัจจุบันคำนึงแต่เรื่องธุรกิจเป็นส่วนมากทุกที่ รวมไปถึงสถานที่ที่ไม่ได้กล่าวถึง กล่าวคือไม่ว่าจะเป็นถ้ามีผู้ให้การรักษาไม่ถูกต้อง ไม่มีความเข้าใจ ก็ย่อมเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จ
ผู้เข้ารับการรักษา ปัญหาของผู้เข้ารับการบำบัด คือไม่พร้อม การถูกบังคับ ไม่สมัครใจ ซึ่งโดยเหตุผลที่กล่าวมานั้นเป็นเหมือนการจับผู้ใช้ยามารวมกันในสถานที่ หนึ่งเพื่อให้พวกเขาแลกเปลี่ยนความรู้ในทางที่ผิดอย่างเช่น เมื่อก่อนผมซื้อยาได้ที่เดียว แต่พอเข้ารับการบำบัดครั้งเดียวพอออกมาหาซื้อได้แทบจะทั่วกรุงเทพฯ กล่าวคือการที่ผู้เข้ารับการบำบัดไม่สมัครใจที่จะเลิกก็เป็นเหมือนการ พักเครื่อง ของผู้ป่วยซึ่งในกรณีของผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีดด้วยแล้ว ผมกล้าพูดได้เต็มปากว่า เลิกเพราะอยากได้เมธาโดน เลิกเพราะอยากได้ความไว้ใจจากคนในครอบครัวเพื่อที่จะได้มีเงินมาซื้อยา การไม่พร้อมไม่สมัครใจจึงจัดได้ว่าเป็นปัญหาหลักที่ทำให้ผู้ใช้ยาไม่สามารถ เลิกได้และเป็นอีกหนึ่งปัจจัยของการล้มเหลวในกระบวนการบำบัดของไทย


ชนิดของยา เป็นส่วนหนึ่งที่การบำบัดรักษาไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากผู้ป่วยบางคนติด ยาบ้าแต่ใช้กระบวนการ รักษาเหมือนกับผู้ติดเฮโรอีน หรือบางคนติดสารระเหยแต่ใช้กระบวนการถอนพิษยาเหมือนกับผู้ที่ติดยาบ้า โดยเฉพาะขั้นตอนการบำบัดแล้วไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการถอนพิษยาหรือขั้นตอน ฟื้นฟูสภาพจิตใจล้วนแล้วแต่ต้องแบ่งแยกเป็นกรณี เป็นบุคคล อย่างในกรณีเฮโรอีน ก็ควรแยกผู้ป่วยที่ใช้ยามานานหรือพวกที่พึ่งติดเพราะพวกเขาเหล่านี้จะประสบ พบเจอประสบการณ์ที่แตกต่างกันไปซึ่งจะเป็นการยากในขั้นตอนฟื้นฟูสภาพจิตใจ ตัวอย่างเช่น ติดผงมา 1 ปีแล้วต้องมาอยู่รวมกับคนที่ติดมา เป็นเวลา 10 ปีเมื่อพวกเขาได้ยู่ร่วมกันแล้วเป็นไปได้ที่คนที่ติด 1 ปีอาจจะมีแนวคิดที่ว่า “ เรา เพิ่งจะติด เขาติดมานากว่าจะเลิก เสพต่ออีก 2 ปีค่อยเลิกก็ยังทัน ”ตลอดจนรวมไปถึงปัญหาของสถานที่ที่บำบัดไม่เคยแยกผู้ใช้ยาระหว่าง ยาบ้า กับ เฮโรอีน ปัจจุบันจึงมีผู้ที่เสพยาบ้าเปลี่ยนชนิดของยามาเป็นเฮโรอีน แต่ก็ยงเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับผู้เสพเฮโรอีนเปลี่ยนมาติดยาบ้า , โดมิกุ้ม หรือ เมธาโดน แทน

ครอบครัว ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลัก เพราะเนื่องด้วยการที่คนในครอบครัวสูญเสียความไว้วางใจจึงทำให้รู้สึกยากที่ จะได้โอกาสหรือพยายามเข้าใจว่าการล้มเหลวหรือการกลับไปเสพซ้ำนั้นเป็นเรื่อง ที่เกิดขึ้นได้เสมอหรือบางครอบครัวก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องน่าอับอายยากที่จะ ให้อภัย กล่าวคือ จะรณรงค์ให้ผู้คนในสังคมยอมรับผู้ติดยา เสพติดกันทำไมในเมื่อคนในครอบครัวยังไม่ยอมรับเลย ครอบครัวจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องเข้าร่วมและรับรู้ขั้นตอนของ การบำบัดที่ครอบครัวจะต้องรับรู้และมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นไป พร้อม ๆ กับผู้ป่วย
สภาพแวดล้อม เป็นแค่เพียงปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่อการกลับไปเสพซ้ำเท่านั้น เพราะไม่ว่าผู้ป่วยจะอยู่ ที่ไหนก็สามารถหายาได้ไม่ยาก แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่านี่ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหา ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยที่มีบ้านอยู่ในบริเวณที่ขายยาก็เป็นการยากในการเลิก เปรียบเสมือน “ น้ำมันอยู่ใกล้ไฟ ” ซึ่งกล่าวได้ว่าถ้าผู้ป่วยไม่เข็มแข็งพอในขั้นตอนการฟื้นฟูจิตใจโอกาสที่จะ กลับไปเสพซ้ำก็สูงเช่นกัน
วิธีการรักษา ในต่างประเทศกฎหมายจะบังคับว่าผู้ป่วยต้องเข้ารับการบำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพ แต่ในประเทศไทยก็พยายามทำแต่ทำแบบผิด ๆ ผู้มีอำนาจในประเทศไทยไม่เข้าใจเลยด้วยซ้ำไปว่าการฟื้นฟูสมรรถภาพทางด้านจิต ใจเป็นอย่างไรไม่เช่นนั้นรัฐบาลคงไม่ให้ทหารเป็นผู้ฟื้นฟูตลอดจนไปถึงบำบัด กล่าวคือขั้นตอนการฟื้นฟูสมรรถภาพทางด้านจิตใจเป็นส่วนสำคัญอย่างมากแต่ใน ประเทศไทยกับไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร การฟื้นฟุสมรรถภาพทางด้านจิตใจคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการแก้ไขปัญหาการ ค้นหาตัวเองและการเข้าใจตัวเองแต่กระบวนการที่ทำอยู่ ในปัจจุบันล้วนแล้วแต่เป็นการคิดค้นขึ้นมาเองทั้งที่แท้จริงแล้วไม่ประสบ ความสำเร็จ เช่น การให้ศาสนามีส่วนช่วยในการบำบัดหรือให้ทหารฝึกระเบียบ วินัยล้วนแต่เป็นการประสบความสำเร็จที่หลอกลวงโดยสิ้นเชิง และยังมีอีกหลายรูปแบบที่มิได้กล่าวถึงล้วนแต่หาผลประโยชน์กับผู้ใช้ยาทั้ง สิ้น
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมารัฐบาลไทยประกาศสงครามกับยาเสพติด พร้อมกับนโยบายสร้างภาพที่ต้องการให้คนในชาติร่วมกันต่อต้านและทำสงครามกับ ยาเสพติด แต่ถ้าวันหนึ่งเรามีคนในครอบครัวที่ใช้ยาเสพติดนั่นหมายถึงเราต้องประกาศ สงครามต่อต้านลูกหลานของเราที่หลงผิด “ แล้วคุณจะทำสงครามกับคนใครอบครัวคุณอย่างไร ” การบำบัดรักษายาเสพติดก็เปรียบเสมือนการทำอะไรซักอย่างเพื่อสร้างภาพว่าเรา ต้องต่อต้านมันแต่แท้ที่จริงแล้วเรากำลังจะต่อต้านกับความรู้สึกผิดชอบชั่ว ดี ของตัวเราต่างหาก ปัญหาสิทธิมนุษย์สยชนก็เป็นปัญหาที่ไม่มีทางแก้ไขได้ในประเทศไทยอยู่ตลอด ตราบใดที่ปัญหานี้ยังอยู่ ปัญหาความยากจน ประชากรทุกข์ยาก หน่วยงานของรัฐโกงกิน คนในชาติยากจนมากกว่าร่ำรวย ตำรวจไม่ใช่ผู้รักษากฎหมายแต่เป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่คนในสังคมต้องให้ความเกรงกลัว ปัญหายาเสพติดก็จะคงอยู่คู่กับลูกหลานเราตลอดไป

บทเรียนจากยาเสพติด


มีคนบอกว่าถ้าเราเลิกยาชีวิตเราจะพบกับความสุข สำหรับผมแล้วนั่นเป็นเรื่องโกหกทั้งเพเพราะตอนที่ผมติดยาผมมีปัญหาผมก็ใช้ มัน ยาทำให้ผมไม่ต้องคิดอะไรอกจากจะหาเงินที่ไหนมาซื้อมัน แต่ทุกวันนี้ผมไม่ใช้ยาแล้วทุกครั้งที่ผมมีปัญหาผมต้องต่อสู่ปัญหาเพียว ๆ โดยที่ไม่มีตัวช่วยผมไม่มีความสุขกับชีวิตในตอนนี้ผมคิดถึงผงขาวทุกวัน ไม่มีวันไหนที่ผมไม่คิดถึงมันแต่ผมก็พยายามอยู่กับชีวิตที่เต็มไปด้วยปัญหา ผมว่าน่าจะดีถ้าผมสามารถย้อนเวลากลับไปได้ ผมจะกลับไปหาตัวผมเอง แล้วบอกกับตัวเองในตอนนั้นว่า สิ่งที่แกทำในตอนนั้น มันจะเปลี่ยนชีวิตแกไปตลอดกาล แต่นั่นมันก็เป็นเพียงความฝันเพราะความจริงผมไม่สามารถเปลี่ยนอะไรได้แต่ที่แย่ที่สุดก็คือ ผมคืออดีตขี้ยาที่ไร้ศักยภาพและผมก็ต้องทนอยู่กับตัวเอง จนกว่ามันจะจบ

ตอนผมอายุ 15 ผมจำได้ว่าในตอนนั้นเด็กอายุขนาดผมในตอนนั้นหาซื้อยาเสพติดได้ง่ายกว่าการหา ร้านค้าที่ยอมขายเหล้าให้ผม “ เรามีสมการ ที่หาค่าตัวแปรของการติดยาเสพติดไม่ได้ ”
ทำไมตำรวจต้องตามหลังผู้ร้ายก้าวหนึ่งเสมอ, ทำไมต้องรอให้เรื่องมันเกิดแล้วจึงตามแก้ไข ,ทำไมชีวิตคนต้องเริ่มต้นที่ความผิดพลาด ทุก ๆ วัน ทุก ๆ เช้าผมต้องบอกกับตัวเองอยู่เสมอว่า “วันนี้เป็นวันแรกของวันสุดท้ายในชีวิตที่เหลือ นั่นเป็นความจริง สำหรับทุกวัน ยกเว้นวันที่คุณตาย” พยายามมีชีวิตอยู่ต่อไปหรือไม่ก็พยายามตายซะ ผมว่าผมคงจะโกรธกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเอง แต่มันคงยากที่จะโกรธผมจึงได้แต่คิดว่าผมควรปล่อยวางและเลิกยึดติดกับทุก สิ่งทุกอย่าง ผมไม่รู้สึกอะไรอย่างอื่นเลยนอกจากซาบซึ้งกับทุกเวลาทุก ๆ วินาที ในชีวิตโง่เง่าของผม หลาย ๆ คนที่ผ่านเข้ามาในชีวิตผม ต่างคิดว่าผมเป็นพวกชีวิตหายนะ ก็ถูกของพวกเขา ผมทำบางอย่างหายไป ผมก็ไม่แน่ใจว่ามันเป็นอะไร
เมื่อก่อนผมไม่เป็นอย่างนี้หรอก ผมเคยมีความสุข ผมกำลังจะอายุ 34 ปี แล้ว และแน่นอนผมไม่รู้หรอกว่าผมจะตายเมื่อไร แต่ช่างมันเถอะ เพราะทุกวันนี้ผมก็ตายทั้งเป็นอยู่แล้ว ทั้ง ๆ ที่ผมเลิกยามาได้ 9 ปีแล้ว